วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้ง


“การหลุดพ้นทั้งปวงของอำนาจแห่งการประพฤติธรรม การหลุดพ้นทั้งปวงของจิตที่หลุดพ้นเป็นทางออกมาจากความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องกับโลกนี้ เป็นไปในสายทางนี้สายทางเดียว สายทางนี้เรียกว่า “สติปัฏฐาน ๔” สายทางนี้เรียกว่า“มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นการบูชาธรรมองค์ ๘ ประการในอริยมรรค ที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม”... อยู่ตรงนี้ทั้งหมด”
ทุกข์ที่เกิดขึ้น ทุกข์ที่ดับไป เกิดจากรูปนามขันธ์ ๕ ดังกล่าว ที่ยึดมั่นยึดถือ จึงละวางคลายออกจากความกำหนัดยินดีที่ยึดถือในรูปนี้ทั้งปวงได้ เป็นวิราคะ เป็นนิโรธะ เป็นปฏินิสสัคคะ และเป็นปฏิสังคะ คือการสลัดละจากความยึดถือธรรมทั้งปวงได้
นี่เป็นธัมมานุปัสสนาอีก ๔ ขั้น รวมแล้วเป็น ๑๖ ขั้นของอานาปานสติ เป็น ๔ หมวดแห่งธรรม เป็นทางสายกลาง... เส้นทางนี้เรียกว่า “สติปัฏฐาน ๔” วิถีธรรมนี้เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” อันเป็นไปตามลำดับแห่ง ๙ ขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ซึ่งลำดับธรรมไปตามญาณทั้ง ๑๖ ญาณ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งรู้จริงในธรรมทั้งปวงที่ปรากฏเกิดขึ้นและดับไป จนถึงที่สุดแห่งปฏิเวกขณญาณ... วิถีธรรมดังกล่าวนี้สืบเนื่องเป็นที่สุดนั้น ทำให้การควบคุมจิตสู่การพัฒนาจิต จนได้ผลแห่งการพัฒนาสู่ความปริสุทธิแห่งจิต... จิตที่วิสุทธิ์จึงถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ เพราะสลัดละวางคลายออกจากความยึดมั่นยึดถือทั้งปวง จึงทำให้เกิดซึ่งวิมุตติแห่งธรรม เป็นธรรมอันเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น...
การหลุดพ้นทั้งปวงของอำนาจแห่งการประพฤติธรรม การหลุดพ้นทั้งปวงของจิตที่หลุดพ้นเป็นทางออกมาจากความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องกับโลกนี้ เป็นไปในสายทางนี้สายทางเดียว สายทางนี้เรียกว่า “สติปัฏฐาน ๔” สายทางนี้เรียกว่า“มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นการบูชาธรรมองค์ ๘ ประการในอริยมรรค ที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม”... อยู่ตรงนี้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้น วิถีธรรมทั้งปวงที่อาตมากล่าวสาธยายโดยสรุปพอเข้าใจนั้น เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดนั้น จึงอยู่ที่จิตดวงเดียวดวงนี้ที่ทุกคนสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้ด้วยตนเอง... การพึ่งตน การพึ่งธรรมะ... การรู้จักฝึกฝนตน ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ค่อยๆ ปฏิบัติกันไป... เบื้องหน้านั้นย่อมสู่ความสุขความเจริญ เบื้องหน้านั้นย่อมสู่ความสิ้นทุกข์ แต่ธรรมทั้งปวงนั้นมิได้สำเร็จด้วยความนึกคิด แต่สำเร็จด้วยการประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องไม่ขาดสาย... ที่สำคัญคือ ธรรมะเป็นเรื่องสมบัติของผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรมคือ สัตบุรุษ ... สัตบุรุษหรือบัณฑิตนั้นคือ ผู้ที่ไม่ประมาทในธรรม และตั้งมั่นอย่างมีสัจจะ มีทมะ มีขันติ มีจาคะ การตั้งมั่นอยู่ในองค์ธรรมเพื่อการดำเนินชีวิตนั้น จึงเป็นวิถีของผู้ที่หวังความเจริญส่วนเดียว
จึงขอยกธรรมะขึ้นกล่าวบูชาให้ท่านทั้งหลายได้ฟัง สดับ เพื่อน้อมนำไปสู่การปฏิบัติทั้งบัดนี้และเบื้องหน้า... บัดนี้ เหมาะควรแก่เวลา เหมาะควรแก่ธรรมะที่ควรบูชา จึงขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลายให้มีความสุขความเจริญโดยธรรม การฟังธรรมก็ได้อานิสงส์แห่งบุญกุศล การนำธรรมเข้าสู่จิตก็ได้อานิสงส์แห่งบุญกุศลทั้งหลาย และที่สุดการทำจิตให้ถึงธรรมะยิ่งเป็นอานิสงส์ยิ่งเข้าไปอีก ทั้งสามทางนั้นเกิดขึ้น ณ บัดนี้ ตามลำดับแห่งจิตของท่านทั้งหลาย ตามสภาพเหตุปัจจัยของท่านทั้งปวง จึงขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลาย ได้รับอานิสงส์กุศลดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง เพื่อที่สุดคือความสิ้นทุกข์ในเบื้องหน้าอย่างแท้จริง...
นี่คือบทธรรมที่แสดงบรรยาย ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ค. ๒๕๕๕ เป็นเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง ก่อนที่อาตมาจะนำคณะของ Chief Information Commissioner แห่งรัฐมหาราษฎร์ สาธารณรัฐอินเดีย ที่เดินทางมาร่วมงาน “สวดพระปริตร อธิษฐานจิต เพื่อแผ่นดินไทย ครั้งที่ ๓๘” ไปพบกับทางสถาบันพระปกเกล้าเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ความรู้ ทัศนคติในวิถีพุทธต่อกัน โดยมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ต้อนรับอย่างดีด้วยน้ำใจที่งดงาม อันน่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง และด้วยความคิด ความเห็น ของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ ในเรื่องการสอนหลักธรรมตามแนววิปัสสนากรรมฐาน... ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิสัชนาธรรมดังกล่าว โดยถอดเทปบรรยายธรรมที่อาตมาแสดงไว้ในวันเดียวกันนั้น (๒๓ ก.ค. ๕๕) ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เผยแพร่สู่สาธุชน ซึ่งเป็นหลักธรรมขั้นเบื้องต้น อันควรศึกษายิ่ง ... ก่อนจะก้าวสู่ความลุ่มลึกในพระธรรมคำสั่งสอนสืบต่อไปในเบื้องหน้าอย่างเป็นลำดับ โดยตั้งใจไว้ว่า “พรรษาปี ’๕๕ นี้ จะเชิญชวนสาธุชนศึกษาปฏิบัติธรรมบนหน้าหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ทางคอลัมน์ธรรมส่องโลก” กรุณาตั้งใจอ่านพิจารณาจดจำ หากมีปัญหาใดๆ ให้ปุจฉาเข้ามาได้ จะวิสัชนาให้ทุกคนตามกำลังปัญญา จึงขอเจริญพรมา ณ โอกาสนี้ แด่สาธุชนผู้มีศรัทธาธรรมทุกท่าน
ขอเจริญพร
ที่มาเดลินิวส์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น