วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

เสพสมบ่มิสม



ยาทางจิตเวช ได้แก่ ยารักษาโรคจิตเภท  ยารักษาโรคอารมณ์ซึมเศร้า และยาคลายกังวล
   
1. ยารักษาโรคจิตเภท
   
โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้มีการแตกแยกของกระบวนการคิดและการตอบสนองทางอารมณ์ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยแสดงอาการหูแว่ว หวาดระแวง หลงผิดแบบแปลกประหลาด 
   
การรักษาด้วยยารักษาโรคจิตเภทเป็นหัวใจของการรักษา นอกจากเพื่อการควบคุมอาการด้านบวกแล้วยังสามารถลดการกำเริบซ้ำของโรคได้ พบว่าผู้ป่วยที่กลับมามีอาการกำเริบซ้ำอยู่บ่อย ๆ นั้น ส่วนใหญ่มีปัญหามาจากการขาดยา 
   
ยารักษาโรคจิตเภทมีผลต่อระบบประสาทและมักจะมีผลข้างเคียงของอาการทางเพศ โดยขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่รับประทาน ในการทดลองเปรียบเทียบยารักษาโรคจิตเภท พบว่ามีอุบัติการณ์ของความผิดปกติทางเพศอยู่ระหว่างร้อยละ 40 – 70  
   
กลุ่มของยารักษาโรคจิตเภทแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มยาเดิมและยากลุ่มใหม่ ยารักษาโรคจิตเภทชนิดใหม่มีประสิทธิภาพในการรักษาและมีอาการผลข้างเคียงน้อยกว่ายากลุ่มเดิม แต่ราคาค่อนข้างสูงกว่ายาเดิม ยากลุ่มใหม่ เช่น ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) มีผลลดความต้องการทางเพศน้อยกว่า ส่วน
ในกลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานยาริสเพอริโดน (Risperidone) มีผลลดความบ่อยของการแข็งตัวขององคชาต
   
2. ยารักษาโรคซึมเศร้า
   
โรคซึมเศร้าอาจจะเกิดในผู้ป่วยที่มีการสูญเสีย หรือโรคซึมเศร้าอาจจะเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือเกิดในบุคคลปกติทั่ว ๆ ไป  โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด โรคซึมเศร้ามีหลายชนิด เช่น ภาวะซึมเศร้า (Depressive episode) โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)  และโรคซึมเศร้าสลับกับอารมณ์ดีผิดปกติ (โรคไบโพล่าร์ Bipolar disorder)
   
โรคซึมเศร้า สามารถรักษาได้ด้วยยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressant drugs) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและที่ไม่ง่วง  ยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ทำให้เกิดการเสพติด และผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้เมื่อหมดความจำเป็น
   
ในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกได้หลายกลุ่มตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ คือ กลุ่มไตรไซคลิก ( Tricyclic คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง) กลุ่มที่ยับยั้งโมโนเอมีนออกซิเดส (Monoamine Oxidase Inhibitors เรียกย่อ ๆ ว่า MAOI) และ
กลุ่มสุดท้ายคือยากลุ่มใหม่ชื่อกลุ่ม เอสเอส อาร์ ไอ (SSRI : Serotonin-Specific Reuptake Inhibitor) ซึ่งแต่ละกลุ่มมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกัน.

รศ.นท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล
คลินิกสุขภาพชาย โรงพยาบาลรามาธิบดี

ที่มา เดลินิวส์ 

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

ทัชมาฮาล สถาปัตยกรรมแห่งความรัก

     

ทัชมาฮาล สุสานหินอ่อนที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความรักที่สวยที่สุดในโลก ถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์อินเดียผู้มีรักมั่นคงต่อพระมเหสีของพระองค์ เจ้าชายขุร์รัม ชึ่งต่อมาคือจักรพรรดิชาห์ ชหาน พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) พระบิดา คือ จักรพรรดิ ชาห์ ชหานชีร์ จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุล แห่งอินเดีย ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าชายขุร์รัม ได้พบกับ อรชุมันท์ พานุ เพคุม ธิดาของรัฐมนตรี เมื่อพระองค์ มีพระชนมายุ 14 พรรษา พระองค์ทรงหลงใหลและหลงรักนาง เจ้าชายขุร์รัมจึงซื้อเพชรด้วยเงิน 10,000 รูปีและบอกแก่พระบิดาของพระองค์ว่าพระองค์มีความประสงค์ที่จะแต่งงานกับบุตรสาวของรัฐมนตรี พิธีอภิเษกถูกจัดขึ้นหลังจากนั้น 5 ปี ในปี พ.ศ. 2155 (ค.ศ. 1612) จากนั้นมาทั้งสองก็มิเคยอยู่ห่างกันอีกเลย


หลังจากที่พระเจ้าชาห์ ชหาน ขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2171 พระองค์มอบความไว้วางใจแก่ อรชุมันท์ พานุ เพคุม และเรียกนางว่า มุมตัซ มาฮาล "อัญมณีแห่งราชวัง" พระมเหสีติดตามพระองค์ แม้แต่ในสนามรบ แนะนำพระองค์ในเรื่องราชการของประเทศ และพระองค์ซาบซึ้งในน้ำพระทัยของพระมเหสียิ่งนัก ครั้นในปี พ.ศ. 2174 (ค.ศ. 1631) พระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์ หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 การสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีทำให้พระเจ้าชาห์ ชหานโศกเศร้าอยู่ถึงสองทศวรรษ ราชสมบัติส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์

ในปี พ.ศ. 2200 (ค.ศ. 1657) พระเจ้าชาห์ ชหานทรงพระประชวร และในปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) พระโอรส โอรังเซบ จับพระเจ้าชาห์ ชหานขัง และขึ้นครองราชบัลลังก์แทน พระองค์ถูกกักขังอยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งสวรรคตในปี พ.ศ. 2209 (ค.ศ. 1666) ตามตำนานกล่าวว่าให้วันสุดท้ายของชีวิตพระองค์ใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในกำมือ พระเจ้าชาห์ ชหานถูกฝังในทัชมาฮาล เคียงข้างมเหสีซึ่งพระองค์ไม่เคยลืม มีบางคนกล่าวว่าพระเจ้าชาห์ ชหาน มิได้ประสงค์ที่จะถูกฝังร่วมกับประมเหสี แต่พระองค์มีแผนการที่จะสร้างสุสานอีกแห่งด้วยหินอ่อนสีดำ เพื่อเป็นสุสานของพระองค์ แต่ผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าพระองค์ประสงค์ที่จะถูกฝังเคียงข้างพระนางมุมตัซ มาฮาล



ทัชมาฮาลถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่ ทัชมาฮาลตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอาครา ส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ หลุมศพของพระนางมุมตัซ มาฮาล ซึ่งถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชร พลอย หิน โมราและเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร มีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน การก่อสร้างกินเวลานานถึง 22 ปี ทัชมาฮาลมีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เป็นที่ตั้งของมัสยิด มีหออาซาน (หอสูงสำหรับร้องแจ้งเวลาทำนมาซ) และมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ นายช่างที่ออกแบบ ชื่อ อุสตาด ไอซา ถูกประหารชีวิตเพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่สวยกว่าได้ ส่วนหัวของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม
ทัชมาฮาลได้ถูกรับเลือกเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยมีเหตุผลตามเกณฑ์การพิจารณาคือ เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด 
ที่มา http://spser.com/board/index.php?topic=1679.0